รู้จักประกันภัยรถยนต์


รู้จักประกันภัยรถยนต์

คุณคงเป็นอีกหนึ่งในผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางเป็นประจำ และสำหรับบางคนแล้วเวลาที่อยู่บนท้องถนนนั้นอาจจะมากกว่าเวลานอนเสียอีก ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคุณต้องรับความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเท่าไร…

ทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถรองรับกับความเสี่ยงนี้ได้ นั่นก็คือ การประกันภัยรถยนต์ ซึ่งเป็นการทำประกันภัยที่หลายๆ คนคุ้นเคยและรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากประกันภัยเสมือนเป็นปัจจัยหลักอีกอย่างหนึ่งของผู้ที่มีรถทุกคนควรจะต้องมี นั่นอาจเป็นเพราะเราได้พบเห็นการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีอยู่ทุกวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

จริงอยู่ว่าการทำประกันภัยรถยนต์คงไม่สามารถจะป้องกันจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้… แต่การทำประกันภัยรถยนต์ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญจะให้คุณปลอดความกังวลใจ และอุ่นใจได้ว่า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คุณจะมีผู้ช่วยจัดการกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ อีกด้วย

ประกันภัยรถยนต์แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

  1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) หรือเรียกย่อๆ ว่าประกันภัยพรบ. ซึ่งรถยนต์ทุกคันต้องทำประกันภัยประเภทนี้ เนื่องจากถูกบังคับโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ประกันภัยประเภทนี้จะรับผิดชอบต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสพภัยจากรถยนต์เท่านั้น ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ…..สมมุติว่าคุณขับรถไปชนคนที่กำลังเดินข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้จะรับผิดชอบเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนเดินถนนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น และจำกัดวงเงินไม่เกิน 80,000 บาท/คนด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วอุบัติเหตุแต่ละครั้งอาจจะสร้างความเสียหายมากมายจนคุณคาดไม่ถึงก็ได้
  2. การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance) ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบของประกันภัย รถยนต์ภาคบังคับนั่นเอง โดยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

ตารางความคุ้มครอง ประกันภัยรถยนต์

  1. ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1
    ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้จะให้ความคุ้มครองแบบครบถ้วนที่สุด ทั้งค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสีย/เสียหายต่อชีวิต อนามัย และ/หรือ ทรัพย์สิน ค่ารักษาพยาบาล ทั้งของฝ่ายผู้เอาประกันภัยและฝ่ายคู่กรณี
  2. ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2
    ประกันภัยประเภทนี้จะรับผิดชอบคุ้มครองค่าเสียหายในกรณีที่รถยนต์ของผู้เอาประกันภัยสูญหาย
    หรือเสียหายจากไฟไหม้ รวมถึงค่าเสียหายต่อชีวิต / ค่ารักษาพยาบาล และทรัพย์สินของ ฝ่ายคู่กรณีเท่านั้น
  3. ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3
    ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ฝ่ายคู่กรณีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต / ค่ารักษาพยาบาล และทรัพย์สิน
  4. ประกันภัยรถยนต์ประเภท 4
    ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ทรัพย์สินของฝ่ายคู่กรณีเท่านั้น
  5. ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5
    ประกันภัยรถยนต์ประเภทนี้จะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต / ค่ารักษาพยาบาล และทรัพย์สินของทั้ง ฝ่ายผู้เอาประกันภัยและคู่กรณี ซึ่งดูแล้วจะคล้ายกับประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 แต่ข้อแตกต่างจะอยู่ตรงที่ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 นี้จะรับผิดชอบค่าเสียหายในทรัพย์สินของผู้เอาประกัน  เฉพาะอุบัติเหตุที่มีสาเหต มาจากการชนกับยานพาหนะทางบกเท่านั้น   ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณขับรถไปชนกับต้นไม้ ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 นี้จะไม่ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของคุณ เพราะต้นไม้ ไม่ใช่ ยานพาหนะทางบกนั่นเอง !!!

ปัจจุบันได้มีประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาในท้องตลาดมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งให้ความคุ้มครองและมีเงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป และที่แตกต่างจากการประกันภัยรถยนต์ประเภท 1, 2, 3, และ 4 ที่กล่าวมาข้างต้น จะถูกรวมเรียกว่าประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 แต่ในท้องตลาดส่วนใหญ่จะนิยมเรียก ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 นี้ว่า ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2+ บ้าง…ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ บ้าง หรืออาจเป็นชื่อทางการตลาดอื่นๆ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่หลายคน ทั้งนี้ จึงควรจะตรวจดูรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ให้ชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเราเอง

วิธีเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์
เนื่องจากประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนั้นมีให้เลือกมากมายหลากหลายในท้องตลาดโดยขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนบุคคล ซึ่งการเลือกประเภทของประกันภัยรถยนต์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อาจดูได้จากพฤติกรรมการขับขี่ของเราเอง การใช้งานของรถ อายุและสภาพรถ และที่สำคัญคืองบประมาณ และนอกจากการเราจะพิจารณาการให้ความคุ้มครองตาม ประเภทของประกันภัยรถยนต์แล้ว เราควรพิจารณารายละเอียดด้านอื่นๆ ดังนี้

จำนวนเงินเอาประกันภัย จำนวนเงินสูงสุดที่บริษัทประกันจะจ่ายให้ตามความคุ้มครองด้านต่างๆที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น ความเสียหายต่อตัวรถที่เอาประกันเนื่องจากการชนไม่เกิน 600,000 บาทต่อครั้ง หรือ ความเสียหายของต่อชีวิต ร่างกาย อนามัยและ ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไม่เกิน 5,000,000 ต่อครั้ง เป็นต้น
เบี้ยประกันภัย จำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้บริษัทประกันภัยเพื่อแลกกับความคุ้มครองที่จะได้รับ คิดเป็นต่อปี มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของประกันภัย  ความคุ้มครอง  และทุนประกันของตัวรถที่เอาประกัน
การระบุผู้ขับขี่ เป็นปัจจัยอีกตัวที่กำหนดเบี้ยประกัน การระบุชื่อผู้ขับขี่จะลดเบี้ยประกันลงได้บ้าง ในกรณีที่เกิดเหตุโดยผู้ขับขี่ที่ไม่ใช่บุคคลตามที่ได้ระบุชื่อไว้กรมธรรม์ก็ยังคงให้ความคุ้มครอง เพียงแต่ผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดชอบเองสำหรับความเสียหายส่วนแรก
Excess หรือ Deductible คือความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง ในแต่ละครั้งที่เกิดความเสียหายเป็นเงื่อนไขที่มีระบุอยู่ในหน้าตารางกรมธรรม์ โดยจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจะแตกต่างไปตามสาเหตุ เช่น 2,000 บาท  จากการชนที่ไม่สามารถแจ้งคู่กรณีได้ หรือ 6,000 บาท สำหรับกรณีที่ผู้ขับขี่ในขณะเกิดเหตุมิใช่ชื่อที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์กรณีเป็นกรมธรรม ์แบบระบุผู้ขับขี่ เป็นต้น
ส่วนลดประวัติดี ส่วนลดนี้จะปรับขึ้นลงได้ขึ้นอยู่กับประวัติของรถที่เอาประกัน ว่าเคยมีการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือไม่ เท่าใด ปกติจะได้รับอยู่ที่ 20%-50%
บริษัทประกันภัย การเลือกบริษัทประกันภัย อาจดูจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ความมั่นคงและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย
  • ชื่อเสียงของบริษัท
  • การให้บริการของพนักงาน
  • ความยากง่ายในการเรียกร้อง
  • เครือข่ายของอู่ที่จัดไว้บริการ
  • อื่นๆ

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะหาข้อมูลเหล่านี้ได้จากสื่อต่างๆ รวมถึงคนรู้จัก เพื่อมั่นใจได้ว่าบริษัทประกันภัยที่เลือกไว้มีความมั่นคง น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ในกรณีที่เกิดการเคลม  การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

บทความที่คล้ายกัน

อาการน่าเป็นห่วง ควันขาว ออกเยอะผิดปกติ
จอดรถกลางแดด 'ยกก้านปัดน้ำฝน' ควรทำหรือไม่?
วิธีการให้สัญญาณในการออกรถ การเลี้ยวรถ และการกลับรถ
การเปลี่ยนสีรถ
เทคนิคการเลือกประกันภัยอย่างไรให้เหมาะกับรถมือสอง
10 คำศัพท์รถยนต์พื้นฐานที่คนใช้รถควรรู้
จอดรถเกียร์ P กับ N จอดรถแบบไหนใช้เกียร์อะไร?
Toyota Innova Crysta ใหม่ มียอดจองเฉียด 2 หมื่นคันแล้วที่อินเดีย
6 สิ่งที่ควรเปลี่ยนทันที เมื่อซื้อรถมือสอง
เช็ก “โช้คอัพรถยนต์” ให้เกาะถนน
เปลี่ยนยาง ขณะรถยางแตก ผู้หญิงก็ทำได้
ไฟฉุกเฉิน" ใช้ไม่เป็น ผิดกฎหมาย
5 สิ่งไม่ลับ แต่คุณอาจไม่เคยรู้ เกี่ยวกับประกันภัยชั้น 1
5 เทคนิคจอดรถให้ปลอดภัยไม่โดนทุบ
8 นิสัยเสียขณะขับรถที่คุณเผลอทำโดยไม่รู้ตัว
เทคนิค 5 ข้อจัดการ 'ขี้นก' ก่อนสีรถจะเสียหาย
5 สิ่งในรถที่ควรตรวจเช็ครับหน้าฝน
เผยโฉมหน้า 'มนุษย์ประหลาด' รถชนอย่างไรก็ไม่ตาย!
ซ่อมห้าง กับ ซ่อมอู่ ที่ไหนดีกว่ากัน?
ของแต่งรถเบื้องต้น 10 อย่าง ที่จะเพิ่มสมรรถนะของรถคุณให้เหมือนรถแข่ง
เคล็ดลับขับขี่อย่างปลอดภัย เมื่อต้องขับขี่ในขณะที่ฝนตกและถนนเปียกลื่น
ผู้ขับขี่รถยนต์เพลียหนัก เจอใบสั่งหลัง "เงารถ" คร่อมเลน
จอดรถ ทำไมต้องหันหน้าออก
5 เทคนิคสำคัญในการเลือกซื้อกล้องติดรถยนต์
ระบบจองตั๋วรถทัวร์ออนไลน์ เพื่อความสะดวกไม่ต้องออกไปจองนอกบ้าน